คลังบทความของบล็อก

วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555

การบำบัดโรคด้วยสมุนไพรไทย

การบำบัดรักษาโรคด้วยสมุนไพรไทย



         ในประเทศไทย ผู้คนนิยมใช้สมุนไพรบำบัดรักษาโรคมายาวนาน เช่นเดียวกับวัฒนธรรมในแขนงอื่นๆ ของชาติ โดยได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียโบราณ การใช้สมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคของไทย มีพื้นฐานมาจากวิชาอายุรเวชของอินเดีย และถูกถ่ายทอดสู่สังคมไทยโดยพระภิกษุสงฆ์ผู้จาจิกแสวงบุญ และได้รับการฝึกฝนด้านการบำบัดรักษาโรค เนื่องจากความรู้ในเรื่องนี้ถูกสืบทอดโดยพระภิกษุซึ่งทำหน้าที่สั่งสอนธรรมะแก่ฆราวาส ดังนั้น แหล่งรวบรวมภูมิปัญญาด้านนี้จึงมักจะอยู่วัด ซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้และการบำบัดรักษา มาตราบเท่าทุกวันนี้
          นอกเหนือจากอิทธิพลของอายุรเวชศาสตร์ ยังมีประเพณีการรักษาโรคของชาวบ้าน โดยอาศัยยาและสมุนไพรพื้นบ้าน ซึ่ง เกี่ยวข้องกับความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ และดาราศาสตร์ เนื่องจากพระภิกษุเองก็เป็นชาวบ้าน การบำบัดรักษาโรคบางอย่างจึงเข้าไปเกี่ยวเนื่องกับคำสอนในวัดด้วย นอกจากนี้ ประเพณีที่เกี่ยวกับหมอตำแยก็ได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยสตรีจำนวนมากได้รับการฝึกฝนในด้านการดูแลสตรีหลังคลอดโดยใช้สมุนไพรและยาพื้นบ้าน เนื่องจากตามหลักพระพุทธศาสนา ห้ามพระภิกษุสงฆ์สัมผัสหรือแตะเนื้อต้องตัวสตรี แต่ละหมู่บ้าน มีหมอยาพื้นบ้านผู้ทำหน้าที่บำบัดรักษาโรคต่างๆ โดยผนวกพื้นฐานความรู้ด้านสมุนไพรเชื่อมโยงกับความรู้ทางศาสนา การรักษาโดยใช้สมุนไพรเป็นแนวทางที่ยึดถือปฏิบัติกันมา โดยผสมผสานกับความเชื่อด้านไสยศาสตร์ เช่น พิธีกรรมและการบวงสรวง ซึ่งต้องใช้พืชพันธุ์ไม้หรือดอกไม้บางชนิด ซึ่งผู้ทำพิธีเชื่อว่า การบำบัดรักษาด้วยสมุนไพรนั้น คนไข้จะต้องมีความศรัทธาเชื่อถือในเรื่องพลังอำนาจของธรรมชาติและจักรวาล รวมทั้งความสามารถในการนำพลังและประสิทธิภาพของสมุนไพรและธาตุแต่ละชนิดมาใช้เพื่อบำบัดรักษา การบำบัดรักษามักจะถูกเก็บเป็นความลับภายในครอบครัว และมีเพียงการบอกเล่าต่อๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยไม่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ถึงกระนั้น บางครอบครัวที่อยู่ในแต่ละท้องถิ่น ก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้เชี่ยวชาญการบำบัดรักษาโรคบางอย่าง
          ในการรักษาโรคโดยใช้สมุนไพรนั้น ขึ้นอยู่กับหลากหลายความเชื่อและกฎเกณฑ์ต่างๆ เช่น มีกฎในการเก็บพืชผักสมุนไพร ว่าจะต้องเก็บในเวลาใด สถานที่ใด อาทิเช่น ดอกไม้ เช่น มะลิ ควรจะเก็บในเวลากลางคืน เนื่องจากเชื่อว่าจะมีพลังมากกว่าในเวลากลางวัน และเป็นที่รู้กันดีในหมู่หมอยาสมุนไพรว่า พืชพันธุ์ไม้เหล่านี้จะมีคุณภาพต่างกันตามถิ่นกำเนิดของมัน ซึ่งชนิดไหนจะมีฤทธิ์ทางยาสูงสุดนั้น เป็นผลจากลักษณะของดินด้วยเช่นกัน ดังนั้น ช่วงเวลาและวันที่ที่จะเก็บสมุนไพรจึงเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง วันเพ็ญ เมื่อพระจันทร์เต็มดวง ถือว่าเป็นเวลาดีที่สุด เพราะพลังของโลก ดวงจันทร์ และพระอาทิตย์ ในช่วงเวลานี้จะมีมากสูงสุด
          ถึงแม้ยาสมุนไพรพื้นบ้าน จะกลายเป็นสิ่งล้าสมัยในช่วงศตวรรษที่ 20 เนื่องจากได้รับอิทธิพลของแพทย์ตะวันตกเข้ามา แต่ก็ยังนับว่าโชคดีที่มิได้สูญสลายไปเสียทั้งหมด เพราะในปัจจุบัน เมื่อธุรกิจด้านสปากำลังได้รับความนิยมอย่างสูง วิชาการด้านการใช้สมุนไพรพื้นบ้านของไทยก็กลับฟื้นคืนชีพอีกครั้ง และกลายเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาของประเทศไทย ในยามที่กระแสความนิยมเครื่องสำอางที่ผลิตด้วยสารเคมีกำลังอ่อนกำลังลงในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้เพิ่มหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับการรักษาด้วยสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยมากขึ้น อีกทั้งยังมีโรงพยาบาลหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลพระยาอภัยภูเบศรว์ ในจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านผลิตผลิตภัณฑ์และเครื่องสำอางที่ใช้สมุนไพรไทยหลายชนิด จนได้รับความนิยมอย่างสูงจากลูกค้าชาวไทยทุกระดับ
        ศาสตร์การนวดแผนไทยที่สืบทอดกันมาแต่โบราณกาล กำลังกลายเป็นวิถีทางแห่งการบำบัดรักษาที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยม ทั้งในสังคมไทยและแม้บรรดาชาวต่างชาติที่มีโอกาสได้ทดลองใช้บริการ การใช้ความร้อน ผสมผสานกับสรรพคุณของสมุนไพรหลายชนิด กลายเป็นกรรมวิธีการบำบัดรักษาที่มีประสิทธิภาพ และหนึ่งในกรรมวิธีดังกล่าว คือ การอบสมุนไพรแบบไทย ซึ่งความสำคัญหรือประสิทธิภาพของการบำบัดด้วยวิธีนี้ คือ สูตรการใช้สมุนไพรหลายชนิด อาทิเช่น ขมิ้น ไพล ตะไคร้ การบูร และ มะกรูด นอกจากการบำรุงสุขภาพโดยทั่วไปและการรักษาผิวพรรณแล้ว การอบสมุนไพรแบบไทย ยังถือเป็นกรรมวิธีการลดน้ำหนักที่ได้ผลชงัดอีกอย่างหนึ่ง หากมีการรักษาอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาหนึ่งทฤษฎีการบำบัดรักษาแผนโบราณของไทยนั้น มีการใช้ลูกประคบ ซึ่งเป็นการนำสมุนไพรชนิดต่างๆ มารวมใส่ในห่อผ้าขาว แล้วมัดให้เป็นก้อนกลม จากนั้นนำไปนึ่งให้ร้อน แล้วกดทับไปตามจุดต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะในบริเวณหลังที่แข็งเกร็ง หรือข้อต่อส่วนต่างๆ เพื่ออาศัยความร้อนของลูกประคบผนวกกับสรรพคุณของสมุนไพรที่อยู่ในลูกประคบนั้น ช่วยบำบัดอาการปวดเมื่อยหรือการเจ็บปวดเฉพาะที่
        นอกจากนี้ ยังมีการบำบัดรักษาสตรีหลังคลอด ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่หมอตำแยหรือแพทย์แผนไทยใช้รักษาคนไข้หลังการคลอดบุตร และปัจจุบันร้านสปาหลายแห่งก็ได้นำกรรมวิธีดังกล่าวมาใช้บริการลูกค้าเช่นกัน โดยเฉพาะสตรีหลังคลอดบุตร การบำบัดรักษาด้วยวิธีนี้ นับเป็นการขับพิษและเลือดลมเสียที่คั่งค้างอยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ให้ออกไปให้หมด และสร้างสมดุลแก่สุขภาพร่างกายหลังการคลอดยังไม่มีทฤษฎีที่ตายตัวสำหรับการดูแลรักษาสตรีขณะตั้งครรภ์ นอกจากมีคำแนะนำเกี่ยวกับการบริโภคอาหาร เพื่อมิให้เป็นอันตรายแก่บุตรในครรภ์ ตัวอย่างเช่น เป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมาว่า สตรีที่กำลังมีครรภ์ ไม่ควรกินอาหารประเภทหน่อไม้ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และอาหารหมักดอง หลังอายุครรภ์เกินสามเดือน ส่วนน้ำแกงที่ปรุงด้วยสมุนไพร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใบตำลึง เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณและคุณค่าทางโภชนาการในน้ำนมสำหรับว่าที่คุณแม่ทั้งหลาย ระหว่างตั้งครรภ์ มีเทคนิคการนวดหลัง ก้นกบ และขา เพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และอาการปวดเมื่อย เนื่องจากแบกน้ำหนักเพิ่มขึ้น
         ทฤษฎีการบำบัดรักษาหลังคลอด เรียกว่า “อยู่ไฟ” ซึ่งมีความหมายว่า “การนอนอยู่บนไฟ” เป็นที่รู้จักของสตรีไทยมาแต่โบราณกาล การใช้ไฟหรือความร้อนในการบำบัดดังกล่าว มีวิธีปฏิบัติ คือ การใช้อิฐเผาไฟให้ร้อนห่อด้วยผ้าและสมุนไพร แล้วอังหรือวางบนหน้าท้องของสตรีที่เพิ่งคลอดบุตร รวมทั้งใต้แคร่ที่นอน ก็มีเตาเผาอิฐตั้งอยู่ เพื่อให้ความร้อนทางด้านหลังของร่างกายคนไข้ด้วยเช่นกัน เชื่อกันว่า ความร้อนและสมุนไพรจะช่วยทำให้แผลบริเวณช่องคลอดที่ฉีกขาดจากการคลอด สามารถเชื่อมติดกันและแห้งหายเป็นปกติได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการขับน้ำคาวปลาหรือเลือดเสียที่คั่งค้างให้ไหลออกจากร่างกาย ทำให้มดลูกแห้ง สะอาดและหดตัวสู่สภาวะปกติได้เร็วยิ่งขึ้น และเพื่อให้การบำบัดรักษาได้ผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น สตรีหลังคลอดจะต้องถูกบำบัดรักษาให้ครบสูตร คือ การอยู่ไฟ การนวดประคบ และการเข้ากระโจมเพื่ออบรมด้วยสมุนไพร เป็นประจำทุกวัน ซึ่งรวมทั้งหมดใช้เวลานานราวหนึ่งสัปดาห์หลังคลอด หมอตำแยผู้เชี่ยวชาญการทำคลอดกล่าวว่า การบำบัดรักษาด้วยการเข้ากระโจมหรือประคบด้วยสมุนไพร ติดต่อกันนานหกเดือน หรือสองปีหลังคลอด จะช่วยให้ร่างกายเข้าสู่สมดุล รูปร่างกลับสู่สภาวะปกติ และช่วยลดน้ำหนักได้ดี
         การบำบัดรักษาด้วยการใช้ความร้อนอีกวิธีหนึ่ง คือ การนึ่งหม้อเกลือ ซึ่งเป็นวิธีเก่าแก่โบราณกาล การนึ่งหม้อเกลือในปัจจุบัน มีผู้ใช้น้อยมาก เนื่องจากหาคนมีความรู้ที่แท้จริงเกี่ยวกับการบำบัดด้วยวิธีนี้ได้ยากยิ่ง นับว่าโชคดีที่กระทรวงสาธารณสุข ได้พยายามที่จะรื้อฟื้นเทคนิคการรักษาวิธีดังกล่าว โดยการผนวกในหลักสูตรการแพทย์แผนไทย
         แม้จะเรียกว่า การนึ่งหม้อเกลือ แต่ในความเป็นจริง ไม่ได้ใช้หม้อ หากใช้สมุนไพรบางชนิดที่มีสรรพคุณสูงในการบำบัดรักษา สมุนไพรหลักที่ใช้ มีลักษณะเป็นหัว เรียกว่า “ว่านชักมดลูก” ซึ่งช่วยรักษามดลูก สมุนไพรอื่นๆ ที่ใช้ประกอบ ได้แก่ ไพล ขมิ้น และใบหนาด แต่หมอตำแยบางคนก็มีสูตรการใช้สมุนไพรอี่นๆ ควบคู่ไปด้วย ตามความรู้ที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ
         วิธีบำบัดรักษาด้วยการใช้สมุนไพร ยังคงใช้กันอยู่ในชนบท ตราบเท่าทุกวันนี้ โดยสถานที่ใช้รักษาพยาบาล คือ วัดและภายในหมู่บ้าน ซึ่งน่าขอบคุณผู้ที่มีส่วนช่วยจรรโลงรักษาคุณค่าของศาสตร์แผนไทยดังกล่าวไว้ให้ดำรงคงอยู่ตราบเท่าถึงปัจจุบัน เพื่อแสดงถึงความร่ำรวยทางวัฒนธรรมและจารีตประเพณีอันเป็นสมบัติล้ำค่าของชาติ และยิ่งเป็นที่น่ายินดี ที่ความรู้เหล่านี้ กำลังได้รับการรื้อฟื้นเพื่อกลับคืนมาให้รักษาสืบทอดต่อไปในอนาคต ดังเช่น ที่ร้านสปาไทยหลายแห่งได้มีการนำมาใช้ประโยชน์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สมุนไพรเพื่อการผลิตเวชสำอาง ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมทั้งสำหรับชาวไทยและต่างชาติในปัจจุ


ที่มา : http://203.172.204.162/intranet/1026_royalfloraexpo/www.royalfloraexpo.com/thai/Thai_Flora_Thai_Ways/thai_herbal.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น